ประวัติความเป็นมา
ชื่อหน่วยงาน : ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
ที่ตั้ง : สำนักงานศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี 56 หมู่ 2 ถ.ศรีวิชัย ต.มะขามเตี้ย อ.เมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี 84000
ประวัติความเป็นมา
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขและทบวงมหาวิทยาลัยร่วมมือกันดำเนินโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท โดยมีการลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2537 มีเป้าหมายผลิตแพทย์ชนบทให้กับกระทรวงสาธารณสุข ต่อมามีการจัดทำโครงการผลิตแพทย์เพิ่มตามแผนเร่งรัด พ.ศ.2547 – 2556 โดยทั้งหมดดำเนินการภายใต้หลักการสำคัญคือ คณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่ร่วมโครงการต้องรับผิดชอบจัดทำหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตที่สามารถผลิตแพทย์ได้มาตรฐาน ตามที่แพทยสภากำหนด ประสาทปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตและรับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1 – 3 และกระทรวงสาธารณสุขโดยศูนย์แพทยศาสตรศึกษา ที่เป็น Teaching Hospital รับผิดชอบการจัดการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 4 – 6 ภายใต้หลักสูตรและการดูแลสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์ที่เป็นเครือข่ายร่วมผลิตแพทย์ สำหรับการคัดเลือกนักศึกษาให้รับผิดชอบร่วมกัน โดยใช้ระบบพิเศษที่ทำให้นักเรียนในส่วนภูมิภาคได้ศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนแพทย์และการกระจายแพทย์พื้นที่ชนบทในระยะยาว
โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีได้รับความเห็นชอบและการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรีว่ามีศักยภาพและความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2547 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 มีพิธีลงนามความร่วมมือในการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทระหว่างโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี กระทรวงสาธารณสุขกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสามารถรับนักศึกษาได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เป็นต้นไป
ปัจจุบันการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาหลักสูตรแพทยศาสตร์ เครือข่ายโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โดยคัดเลือกในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี
ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก
โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี